กัญชา กัญชง ยังเป็นยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส.ฝากประชาสัมพันธ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 เพื่อความเข้าใจตรงกัน
1.ประกาศกระทรวงฯฉบับนี้ยังคงยืนยันกำหนดให้กัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เช่นเดิม การผลิต เพาะปลูก นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามกฎหมายยาเสพติดให้โทษ
2.ประกาศฉบับนี้เป็นเพียงการประกาศยกเว้นให้สารสกัดจากกัญชาและกัญชงที่มีปริมาณของสาร THC เพียงเล็กน้อย รวมถึงบางส่วนของพืชกัญชงไม่ถูกควบคุมเป็นยาเสพติดให้โทษ เพื่อให้นำไปใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และยาเท่านั้น
3.ผลของประกาศทำให้สารสกัดและบางส่วนของพืชกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป...
   (1). ปลอกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้งของกัญชาและกัญชง
   (2). สาร CBD บริสุทธิ์ร้อยละ 99 ที่มี THC ผสมไม่เกินร้อยละ 0.01 (เพื่อนำมาใช้เป็นสารมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ)
   (3). สารสกัด CBD หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD ที่มีสาร THC ผสมไม่เกินร้อยละ 0.2 ที่เป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือสมุนไพร (เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ยกเว้น)
   (4). เมล็ดกัญชงหรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชงที่เป็นอาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร
   (5). น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ที่เป็นเครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง
4.ในระยะเวลา 5 ปีแรกนับจากวันที่ 31 ส.ค.2562 สารสกัด CBD หรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD ที่เป็นยาหรือสมุนไพร เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชงที่เป็น อาหาร หรือเครื่องสำอาง จะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษจะต้อง “ผลิตในประเทศเท่านั้น” เพื่อป้องกันมิให้นำเข้ายาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร หรือเครื่องสำอางสกัดจากเมล็ดกัญชงจากต่างประเทศอย่างเสรี
5.การดำเนินการต่อไป กระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตเกี่ยวกับกัญชง พ.ศ.2559 จากเดิมมีบทเฉพาะกาล 3 ปีที่ให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐขออนุญาตปลูกกัญชงได้ เป็นให้ภาคเอกชนสามารถขออนุญาตปลูกได้ด้วย
สรุปว่ากัญชง-กัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ ทำอะไรต้องขออนุญาต