หลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ เรื่องการเลื่อนการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร ที่ประกอบด้วย พาราควอต, ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์จากจำนวนผู้เข้าประชุม 24 เสียงให้เลื่อนการยกเลิกการใช้สารพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส คือการปรับระดับสารเคมีทั้ง 2 จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ออกไปอีก 6 เดือน คือในวันที่ 1 มิถุนายน 2563 จากเดิมที่กำหนดไว้ให้ยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

 

 


          รมว.อุตสาหกรรม ยืนยันว่า สารทั้ง 2 ชนิด ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ส่วนที่เลื่อนยกเลิกการใช้ออกไป เพราะหากยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีสารเคมีทั้ง 2 ไว้ในครอบครอง ทำให้เกิดความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท

 

 


           ส่วนไกลโฟเซต ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ใช้ได้ต่อไป แต่ต้องจำกัดการใช้ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดเดิมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 สาเหตุที่ให้ใช้ต่อ เพราะหากยกเลิกการใช้จะทำให้ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถั่วเหลืองไม่ได้ และจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายอย่าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

 


          ส่วนการหาสารเคมีทดแทนสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ที่ประชุมได้ให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเร่งหามาแล้วให้นำมาเสนอต่อที่ประชุมในอีก 4 เดือนข้างหน้าเช่นเดียวกับการหามาตรการลดผลกระทบต่างๆที่จะเกิดกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ตอนนี้กำลังเร่งหาสารมาทดแทน แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันตามเวลาที่กำหนดหรือไม่

 


          นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงาน อธิบายเพิ่มว่า ขณะนี้ห้ามนำสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเข้าประเทศแล้ว แต่ยังสามารถขายและใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2563  ส่วนไกลโฟเซตที่ให้ใช้ได้ต่อตามปกติ ยืนยันว่า จากข้อมูลทางวิชาการยังไม่พบว่า จะส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนและเกษตรกร ทั้งสหรัฐฯเองก็ไม่ได้ห้ามการใช้สารชนิดนี้ โดยปัจจุบันไทยมีสต็อกของสารเคมีทั้ง 3 รวมกันอยู่ประมาณ 23,000 ตัน

 


            สำหรับสารไกลโฟเซต  เป็นสารเคมีที่สหรัฐฯ ทำหนังสือให้รัฐบาลไทยทบทวนการยกเลิก