เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมให้ยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 ซึ่งครม.มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานเบื้องต้น (Preliminary Work) โครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 และให้ความเห็นชอบการยุติการดำเนินโครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ภายใต้ความตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ. 2543 

 ทั้งนี้ในมติครม.ได้ระบุสาระสำคัญของเรื่องว่า ที่ผ่านมาไทยในฐานะประเทศสมาชิกได้ร่วมดำเนินการภายใต้การดำเนินงานเบื้องต้นฯ มาโดยตลอด โดยมีการจ้างเอกชนจัดทำแผนปฏิบัติงานสำรวจและเก็บข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Impact Assessment: ESIA) และได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะทำงาน 4 ประเทศ (Joint Working Group) เพื่อพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การสำรวจภาคสนาม การสำรวจทางธรณี การสำรวจทางอุทกศาสตร์ การนำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Model Test) เพื่อมาใช้ในการออกแบบร่องน้ำและศึกษาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำ รวมทั้งการกัดเซาะตลิ่ง เพื่อนำไปสู่การออกแบบร่องน้ำทางเดินเรือให้มีความปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อเขตแดนทางน้ำระหว่างไทยและ สปป.ลาว 

ในสาระสำคัญที่เสนอครม.ระบุด้วยว่าในการประชุมคณะกรรมการ JCCCN ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 26 – 27 มีนาคม 2562 ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ฝ่ายจีนได้เสนอรายงานผลการศึกษาการดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ต่อที่ประชุม พร้อมทั้งได้แจ้งว่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วและการดำเนินการต้องสิ้นสุดลงโดยจะมีไม่การดำเนินการใด เว้นแต่จะมีความเห็นชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกผ่านช่องทางการทูต ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 48 เมื่อวันที่ 24 – 25 เมษายน 2562 ณ เมือง Vung Tau สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามว่าประเทศสมาชิก (ไทย กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม) ได้รับทราบว่าการดำเนินงานในส่วนของ ESIA ภายใต้การดำเนินงานเบื้องต้นโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง ได้สิ้นสุดแล้ว

ทั้งนี้โครงการปรับปรุงร่องน้ำการเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หรือเรียกสั้นๆ ว่า โครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง เป็นโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลจีนที่ต้องการระเบิดเกาะแก่งต่างๆในแม่น้ำโขงเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเพื่อให้เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่สามารถล่องจากตอนใต้ของจีนไปยังนครหลวงพระบางในลาวได้ อย่างไรก็ตามโครงการระเบิดแก่งนี้ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชนไทยโดยเฉพาะในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศและส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงได้มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆรวมถึงรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไทยยอมทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่อนุญาตให้จีนที่ได้รับบริษัทสัมปทานสารถดำเนินโครงการได้ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงและกรมเจ้าเท่าต่างก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเรื่องเส้นเขตแดน

รายงานข่าวแจ้งว่าผลการดำเนินการการดำเนินงานเบื้องต้น (PW) กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ดังนี้

1.การดำเนินการต้องไม่ส่งผลกระทบทางกายภาพต่อแม่น้ำในส่วนที่เป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มีความเห็นว่าเส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ค.ศ.1926 ที่ระบุว่า ให้เส้นเขตแดนในแม่น้ำโขงเป็นไปตามร่องน้ำลึก อย่างไรก็ดีเขตแดนทางน้ำระหว่างไทยกับ สปป.ลาว อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาเพื่อสำรวจและปักหลักเขตแดนร่วมกัน ซึ่งตามบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-ลาว ครั้งที่ 9 ข้อ 7.6.5 ได้กำหนดวิธีการจัดการพื้นที่ชายแดนตามลำแม่น้ำโขงระหว่างรอการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยเน้นย้ำหลักการตามบันทึกการประชุม JBC ครั้งที่ 1 ข้อ 7 ซึ่งระบุว่า “ในการดำเนินการสำรวจเขตแดนทางบกและในแม่น้ำ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่า มิให้เจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานของรัฐฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำการถากถางและก่อสร้างใด ๆ ในบริเวณชายแดนที่จะกระทบต่อธรรมชาติของเส้นเขตแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีที่เจ้าหน้าที่สำรวจเขตแดนทั้งสองฝ่ายเห็นความจำเป็นเพื่อการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน” และบันทึกการประชุม JBCครั้งที่ 5 ข้อ 5 ซึ่งระบุว่า “…โดยในระหว่างการรอการมีผลบังคับใช้ของเส้นเขตแดนนั้น…ห้ามมิให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมในบริเวณ 100 เมตร ในแต่ละด้านของสันปันน้ำที่เป็นแนวเส้นเขตแดน” โดยที่การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในแม่น้ำโขงยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น เมื่อพิจารณาโครงการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำโขงในภาพรวม ย่อมส่งผลกระทบไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อสภาพลำน้ำทางกายภาพและร่องน้ำลึกธรรมชาติของแม่น้ำโขง และจะส่งผลต่อท่าทีทางกฎหมายของประเทศไทยในการเจรจาด้านเขตแดนกับ สปป.ลาวด้วย        

2.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า) เร่งสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงให้แก่ประชาชนในพื้นที่ก่อนดำเนินการ ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเห็นต่อรายงานการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESIA) ดังนี้

    1)การจัดทำรายงานดังกล่าวต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันข้อคัดค้านที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการในอนาคต

     2)ข้อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ 

     3)ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควรกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบและมาตรการตรวจสอบผลกระทบที่เกิดจากโครงการให้ครอบคลุมทุกด้าน

     4)ผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการประเมินความหลากหลายทางชีวภาพของชนิดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ในพื้นที่โครงการ