22พ.ค.63-สช. ชงทบทวนให้กลุ่มโรงเรียนนานาชาติ 216 แห่ง เปิดเทอม วันที่ 1 มิ.ย. อ้างเพื่อให้สอดคล้องกับต่างประเทศ “อรรถพล” เผย มีผู้ปกครองไม่ยอมรับการสอนแบบออนไลน์ตลอดภาคเรียน ชะลอการจ่ายค่าเทอมและฟ้องร้องขอเงินค่าธรรมเนียมคืน
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (เลขาฯ กช.) กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) ได้เสนอให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 (ศบค.) ทบทวนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนเอกชน ประเภทโรงเรียนนานาชาติ จำนวน 216 แห่ง ให้สามารถดำเนินการ เปิดภาคเรียนในวันที่ 1 มิถุนายนนี้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากโรงเรียนนานาชาติมีการจัดการเรียนการสอนที่เป็นหลักสูตรเดียวกันกับของต่างประเทศ และเดือนมิถุนายน คือ เดือนสุดท้ายของปีการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นช่วงปิดภาคเรียนของโรงเรียนนานาชาติแล้ว ดังนั้นหากต้องเปิดเรียนตามประกาศของศธ.ในวันที่ 1 กรกฎาคม จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายอย่างมาก อีกทั้งขณะนี้ผู้ปกครองไม่ยอมรับการสอนแบบออนไลน์ตลอดภาคเรียน แต่ต้องการแบบผสมผสาน รวมถึงผู้ปกครองบางกลุ่มมีการชะลอการจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียนและฟ้องร้องขอเงินค่าธรรมเนียมคืน
“ทั้งนี้หากรัฐบาลอนุมัติให้โรงเรียนนานาชาติเปิดเรียนได้ในวันที่ 1 มิถุนายน สช.จะกำชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไวรัส เช่น ผู้ปกครองต้องตรวจวัดไข้นักเรียนทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน พนักงานและเจ้าหน้าที่โรงเรียนต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด สวมใส่หน้ากากอนามัย จัดเจลแอลกอฮอร์ล้างมือทุกจุดภายในโรงเรียน รวมถึงโรงเรียนต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี และเพิ่มการทำความสะอาดภายในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ทั้งนี้โรงเรียนต้องงดการประชุมหรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีคนหมู่มาก เช่น การแข่งกีฬา เป็นต้น นอกจากนี้โรงเรียนจะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม จากนี้ สช.จะแจ้งโรงเรียนนานาชาติให้เตรียมความพร้อมรับมือกับการเปิดภาคเรียนต่อไป”เลขาฯ กช.กล่าว
โดยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 216 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 เป็นเท่าตัว และการเรียนการสอนของโรงเรียนนานาชาตินั้น มีการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันไปตามหลักสูตรของแต่ละที่ โดยแบ่งเป็นแบบ เปิดสอน 2 ภาคเรียน จำนวน 81 แห่ง และเปิดสอน 3 ภาคเรียน จำนวน 135 แห่ง จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาโรงเรียนนานาชาติได้รับความนิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มในการขยายสู่ภูมิภาคมากขึ้นด้วย
- มีปัจจัยที่เอื้อต่อความปลอดภัย นักเรียนต่อห้อง 20-25 คน (ส่วนใหญ่ 10-20คน) มีพื้นที่โรงเรียนกว้าง มีห้องเรียน/ห้องกิจกรรม เพียงพอ มีจำนวนครูและบุคลากรต่อนักเรียน เฉลี่ย 1:10 (อนุบาล 1:7) ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ ผู้ปกครองมีศักยภาพและมีความพร้อมสูงในการป้องกันโรค โรงเรียนมีที่ตั้งในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว นอกจากนี้นักเรียนต่างชาติของโรงเรียนนานาชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้พำนักอยู่เดิมในไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ได้ อีกทั้งโรงเรียนนานาชาติมีระบบสอน online อยู่แล้ว ทำให้นักเรียนจำเป็นต้องเข้ามาในโรงเรียนช่วงสั้นๆ ทำให้สามารถติดตามนักเรียนได้ง่ายในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ
- เพื่อลดผลกระทบทางธุรกิจและสังคม เนื่องจากในเดือนมิถุนายนจะเป็นเดือนสุดท้ายของปีการศึกษาโรงเรียนนานาชาติทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ใช้หลักสูตรเดียวกันทำให้จำเป็นต้องปรับช่วงเวลาให้ตรงกับหลักสูตรของต่างประเทศด้วย และผู้ปกครองไม่ยอมรับการสอนแบบ online ตลอดภาค เรียนแต่ต้องการแบบผสมผสาน (hybrid) ทำให้ผู้ปกครองชะลอการจ่ายค่าธรรมเนียมการเรียน จนทำให้เกิดการฟ้องร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการเรียนคืน และมีการร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก
มาตราการอ่อนเปิดเรียน
- โรงเรียนทำการสำรวจข้อมูลครู นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ภายใน 14 วัน หรือมีอาการที่แสดงว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และให้แจ้งโรงเรียนรับทราบโดยทันที
- โรงเรียนมีการแบ่งพื้นที่ใช้งานอย่างชัดเจน จัดเตรียมสถานที่ในห้องเรียน พื้นที่นอนกลางวัน พื้นที่การเรียนรวม โรงอาหาร พื้นที่สันทนาการ โดยใช้ social distancing ให้มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ระหว่างบุคคล พร้อมทำป้ายสัญลักษณ์แจ้งเตือนทั่วบริเวณโรงเรียน และต้องหมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา
- โรงเรียนมีการทำความสะอาดพื้นที่ภายในโรงเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนทุกครั้งก่อนเปิดเรียนอย่างต่อเนื่อง
- โรงเรียนกำหนดจุดคัดกรองบริเวณประตูทางเข้าโรงเรียน เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของนักเรียน ครู และบุคลากรที่มาติดต่อกับโรงเรียนทุกรายและทุกครั้ง
- โรงเรียนมีจุดบริการทำความสะอาดมือและมีการจัดเตรียมสบู่ล้างมือ แอลกอฮอล์เจล บริเวณทางเข้าประตู โรงเรียน ห้องเรียน บริเวณอาคาร ห้องน้ำ หรือสถานที่จัดกิจกรรมอื่นๆ อย่างเพียงพอและทั่วถึง
- โรงเรียนให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรงเรียนแก่ครู บุคลากร และพนักงานของโรงเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง นักเรียน และผู้เกี่ยวข้อง
- โรงเรียนจัดให้มีป้ายประชาสัมพันธ์แนะนำมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ของโรงเรียน การสังเกตอาการ และอื่นๆ
- โรงเรียนจัดทำแผนการเรียนการสอน โดยโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนมาก อาจแบ่งนักเรียนสลับมาเรียนที่โรงเรียนแต่ละห้องหรือแต่ละชั้นตามความเหมาะสม และจัดให้มีการเหลื่อมเวลาเข้าเรียน เลิกเรียน รวมถึงเวลาพักของนักเรียนแต่ละชั้นปี
มาตราการระหว่างเรียน
- ผู้ปกครองต้องตรวจวัดอุณหภูมิของนักเรียนทุกครั้งก่อนออกจากบ้านมาโรงเรียน หากตรวจพบอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา ต้องไม่ให้นักเรียนมาโรงเรียน
- พนักงานประจำรถและพนักงานขับรถโรงเรียนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนปฏิบัติหน้าที่หากตรวจพบอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ และต้องทำความสะอาดรถทุกรอบ
- พนักงานประจำรถโรงเรียน มีเทอร์โมมิเตอร์ประจำตัว และต้องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายของนักเรียนก่อนขึ้นรถรับ – ส่งนักเรียน หากตรวจพบอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้ขึ้นรถและนักเรียนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะที่อยู่บนรถ
- บุคคลทุกคนที่จะเข้ามาภายในบริเวณโรงเรียนต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ณ จุดคัดกรองที่ประตูทางเข้าโรงเรียน ในกรณีที่พบ ผู้มีอุณหภูมิร่างกายเท่ากับหรือสูงกว่า 37.5 องศา หรือมีอาการไข้ ไอ จามมีน้ำมูก หรือมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จะไม่อนุญาตให้เข้ามาภายในบริเวณโรงเรียน และมีการบันทึกข้อมูลเก็บไว้
- นักเรียน ครู และบุคลากร หรือผู้มาติดต่อกับโรงเรียนทุกคน ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่อยู่ภายในพื้นที่บริเวณโรงเรียน
- โรงเรียนต้องจัดให้มีระบบระบายอากาศ เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดี
- เพิ่มความเข้มข้นในการทำความสะอาดภายในโรงเรียน ห้องเรียน ห้องน้ำ สนามเด็กเล่น อุปกรณ์การเรียน กีฬา เครื่องดนตรี ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำหลังเลิกเรียนทุกวัน หากจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และของเล่นร่วมกันต้องมีการทำความสะอาดก่อนและหลังใช้งานทุกครั้ง รวมถึงไม่อนุญาตให้นำของเล่นส่วนตัวมาใช้ในโรงเรียน
- โรงเรียนต้องมีการควบคุมคุณภาพการประกอบอาหารและการจัดการน้ำดื่มในโรงเรียนให้ถูกสุขอนามัย
- ยกเลิกการจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรภาคบ่าย (Extra Curricular Activities) ทั้งหมด
- งดการประชุมหรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีคนหมู่มาก
- งดกิจกรรมกีฬาทุกประเภทที่ต้องสัมผัสตัวกับผู้ร่วมแข่งขัน หรือกีฬาประเภทที่ต้องแข่งขันเป็นทีม
- นักเรียนจะได้รับคำเตือนจากครูให้ล้างมือเมื่อจบคาบเรียนทุกๆ คาบ หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องสัมผัสวัสดุต่าง ๆ โดยมีเจลล้างมือให้บริการหน้าโรงเรียน ในห้องเรียน ห้องน้ำ และโรงอาหาร
- นักเรียนและพนักงานทุกคนจะต้องมีขวดน้ำ/กระติกน้ำของตนเอง
- ในกรณีที่พบนักเรียนติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) หรือเจ็บป่วย ให้มีผู้ประสานงานกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข เพื่อดำเนินการคัดแยกและดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย
- หลีกเลี่ยงการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นเวลาต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง
- การจะให้นักเรียนมาหรือไม่มาโรงเรียนในแต่ละวันให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ปกครอง
มาตรการหลังเลิกเรียน
- โรงเรียนต้องแจ้งผู้ปกครอง เพื่อรับนักเรียนกลับบ้านทันทีหลังเลิกเรียน
- โรงเรียนมีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลมาตรการการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID –19) และรายงานผู้อำนวยการสถานศึกษาทราบเป็นประจำทุกวัน
“ซึ่งข้อมูลของมาตรการ และข้อเสนอดังกล่าวนี้ ทาง สช.จะได้นำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนำเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป” ดร.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลจาก https://moe360.blog