เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงถึงภาพรวมภาระหนี้กลุ่มต่าง ๆ ประกอบไปด้วย หนี้ กยศ. 3.6 ล้านคน ผู้ค้ำประกัน 2.8 ล้านคน หนี้ครู ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่นๆ ของประชาชน 51.2 ล้านบัญชี ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะต่อไป โดยมาตรการระยะสั้น สามารถดำเนินการภายใน 6 เดือน อาทิ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน

ทั้งในส่วนสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อ PICO และ NANO สำหรับประชาชน ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชน ที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์และให้ ธปท.ทบทวนเพดานอัตราดอกเบี้ย และการกำกับดูแลบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน การไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินเพื่อลดการดำเนินคดีกับประชาชน เช่น หนี้ กยศ. หนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หนี้สหกรณ์ การเพิ่มการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs เช่น จัดให้มี soft loan สำหรับ SME ที่เป็น NPL เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ การเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำ และโรงรับจำนอง เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อดังกล่าว ในส่วนมาตรการมาตรการระยะต่อไป คือ เร่งส่งเสริมการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยถูกลง การให้ความช่วยเหลือเด็กรุ่นใหม่หรือคนเกษียณที่มีภาระหนี้สิน โดยจะออกมาตรการเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยและค่าเดินทางระบบขนส่งมวลชนในราคาถูก การจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ เพื่อกำกับดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อรายย่อยเป็นการเฉพาะ และการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางธุรกิจและการเงิน เพื่อชะลอการฟ้อง อำนวยความสะดวกให้การฟื้นฟูหนี้รายบุคคลที่มีเจ้าหนี้หลายราย

นอกจากนี้ มติ ครม.ยังเห็นชอบการลดอัตราเงินสมทบ สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่ง พรบ.ประกันสังคม ซึ่งคือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยลดเงินสมทบลงเหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบเดิม เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้นอีกด้วย