แม่หอบ หรือ จอมหอบ (อังกฤษ: Mud lobster, Mangrove lobster) เป็นสัตว์น้ำประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกครัสเตเชียนชนิดหนึ่ง จัดเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณหรือซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตที่ดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน โดยถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคไมโอซีนยาวนานถึง 16 ล้านปี แม่หอบมีรูปร่างคล้ายกุ้งผสมกับปูโดยขาคู่แรกขนาดใหญ่คล้ายก้ามปู นอกจากใช้เดินแล้วยังทำหน้าที่ขุดรูและขนดินออกมากองคล้ายจอมปลวก แต่มีขนาดเล็กกว่า หัวเหมือนกุ้งมีขนาดใหญ่ ลำตัวสีแดงเข้มเป็นปล้อง ๆ คล้ายกั้ง ท้องขนาดเล็กยาวเรียวไม่มีแพนหาง ลักษณะคล้ายแมงป่อง อาศัยโดยการขุดรูอยู่ตามพื้นป่าชายเลน โดยขนดินขึ้นมากองทับถมกันเป็นเนินสูง และอาศัยอยู่ด้านใต้กองดินนั้น สามารถอยู่บนบกได้เป็นเวลานานกว่าครัสตาเซียนจำพวกอื่น ๆ ที่มาของชื่อ แม่หอบ นั้นเกิดจากพฤติกรรมในการสร้างที่อยู่ของมัน คือ แม่หอบ จะขุดดินเป็นรู โดยจะหอบดินจากการขุดรูด้านล่าง​หอบขึ้นมาก่อเป็น จอมหอบ(ลักษณะคล้ายจอมปลวก) สูง 1 - 3 เมตร ขอบคุณข้อมูลจากกลุ่มอนุรักษ์และช่วยเหลือสัตว์ป่า