คนกรุงเทพหรือในเมืองอาจจะรู้สึกว่าช่วงนี้ฝนตกเยอะ แต่จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ พบว่า ฝนที่เริ่มตก และตกมากขึ้นบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ในช่วง 10 วัน (18-27 มิ.ย.62) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กลับพบว่า ปริมาณฝนที่ตกสะสมน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร (มม.) จึงทำให้เกิดความเสี่ยงปริมาณพื้นที่นอกเขตชลประทาน และพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง เช่น คลอง บึง บ่อ เป็นต้น อาจจะมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค
โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกพืชในฤดูเพาะปลูกพืชเช่นนี้ คาดว่าจะทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายหลายล้านไร่ ซึ่งล่าสุด สทนช.รายงานพื้นที่ความเสี่ยงที่จะเกิดฝนทิ้งช่วง และกลายเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง จะมีมากถึง 14 จังหวัด 36 อำเภอ อาทิ จ.เชียงใหม่ สุพรรณบุรี นครราชสีมา ชลบุรี โดยมีถึง 3 อำเภอ ใน 3 จังหวัดไม่มีฝนตกเลยติดต่อกัน 10 วัน ได้แก่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.สีชัง จ.ชลบุรี และ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
ขณะเดียวกัน ยังมีพื้นที่ที่ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 50 มม. และต้องเฝ้าระวังอีก 46 จังหวัด 169 อำเภอ อาทิ จ. เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช ชลบุรี เป็นต้น ดังนั้น ปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่ออาชีพเกษตรกรค่อนข้างรุนแรง...
สอดคล้องกับผลสำรวจของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ระบุว่า เกษตรกรที่เพาะปลูกในช่วงนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากฝนทิ้งช่วง ที่เกิดจาก “เอลนีโญ” โดยคาดว่าปริมาณฝนอาจจะตกน้อยลงในช่วง 1-2 เดือน และที่สำคัญ ฝนที่ตกยังเป็นการตกนอกเขื่อนอีกด้วย
ดังนั้น จึงได้เตือนเกษตรกรลูกค้าของ ธ.ก.ส.ให้ระมัดระวังเรื่องเพาะปลูกข้าว โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่ได้ลงทุนหว่านและเพาะปลูกไปแล้วนั้น อาจจะได้รับความเสียหายได้และหากจะลงทุนเพาะปลูกพืชรอบใหม่ ก็เกรงว่า หากฝนทิ้งช่วงยาวนานไปอีก ก็ยิ่งสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกร เนื่องจากข้าวนาปีที่เกษตรกรเพาะปลูกนั้น เป็น “ข้าวไวแสง” หรือ “ข้าวไวต่อช่วงแสง” หากเลื่อนไปปลูกในวันแม่ (12 สิงหา) และเก็บเกี่ยววันพ่อ (5 ธันวา) ผลผลิตจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และไม่คุ้มทุน ธ.ก.ส.จึงได้วางแผนสนับสนุนและพร้อมปล่อยสินเชื่อนาปีรอบใหม่ให้แก่เกษตรกรแล้ว
แต่หากฝนยังคงทิ้งช่วงและลากยาวออกไปอีก เงินกู้รอบใหม่จะเท่ากับยิ่งสร้างภาระหนี้สินให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ สทนช.จึงประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้แจ้งเตือนเกษตรกร ให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิจารณาแผนการบินปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 22 แห่ง และอ่างฯขนาดกลางจำนวน 172 แห่ง เพื่อเติมน้ำในอ่างฯ และกักเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุด
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า โอกาสที่ฝนจะตกในเดือน ก.ค.นี้ อาจจะน้อยกว่าปีที่แล้ว ภาวะฝนทิ้งช่วงอาจจะส่งผลรุนแรงในหลายพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่แล้งซํ้าซาก เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ดังนั้น ปริมาณฝนที่จะตกลงมามากๆ เกษตรกรจะต้องรอจนถึงเดือน ส.ค.-ก.ย.หรืออีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งในช่วงเวลานั้น ยังต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงน้ำล้นตลิ่งอีกด้วย ผลผลิตของเกษตรกรที่คาดว่าจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด ดังนั้น เกษตรกรควรจะเฝ้าระวังผลผลิตอย่าให้ขาดแคลนน้ำเป็นอันขาด แม้ว่าประเทศไทยจะเป็น “อู่ข้าว อู่น้ำ” ก็ตาม.