โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กฟผ.ได้เผยแพร่ข้อมูล ชุดปลูกผักไร้ดินโดยใช้น้ำจากการเลี้ยงปลาที่ได้รับอาหารเสริมจากไก่ไข่และใช้จุลินทรีย์ขยายในการ                                 เพิ่มประสิทธิภาพ โดย นายพิศ หมอยาดี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี ซึ่งมีหลักการคือการสร้างระบบนิเวศน์ในการเกษตรให้พึ่งพาตนเอง โดยสามารถทำได้ง่ายๆ ได้ผลดี

🐓 - เลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา
🐟 - เลี้ยงปลาหมอในบ่อ แล้วส่งน้ำไปยังแปลงผัก
🌱 - ผลิตผัก แปลงผักไร้ดินแบบใช้ท่อ PVC และแปลงผักไร้ดินแบบใช้ไม้ไผ่

 

บทคัดย่อ

ระบบการปลูกผักไร้ดินโดยใช้น้ำจากการเลี้ยงปลาที่ได้รับอาหารเสริมจากไก่ไข่และใช้จุลินทรีย์ขยายในการเพิ่มประสิทธิภาพ จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาระบบการปลูกผักไร้ดินโดยใช้น้ำจากการเลี้ยงปลาที่ได้รับอาหารเสริมจากไก่ไข่และใช้จุลินทรีย์ขยายในการเพิ่มประสิทธิภาพ ศึกษาผลของการใช้จุลินทรีย์ขยาย (EM) ที่มีต่อระบบการปลูกผัก การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลาและการรักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อขยายผลสู่ชุมชน  ผลจากการดำเนินงานพบว่าระบบที่จัดทำขึ้นสามารถเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลาและปลูกผักได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการจัดทำทั้งระดับครัวเรือนและระดับชุมชนโดยมีผลทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมดังนี้

  1. การเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา มีต้นทุนการผลิต เป็นเงิน 6,700 บาท ต่อรุ่น มีรายรับจากการเลี้ยงไก่  7,630 บาทมีผลกำไร 930 บาท จะเห็นได้ว่าผลตอบแทนจากการเลี้ยงไก่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นการเลี้ยงโดยการเลี้ยงไก่สาวที่มีราคาสูงจึงทำให้ซึ่งทำให้มีต้นทุนสูง
  2. การเลี้ยงปลาหมอในบ่อซีเมนต์ และบ่อพลาสติกให้ผลผลิตไม่แตกต่างกันคือได้ผลผลิตบ่อละ 80 กิโลกรัม มีต้นทุนการผลิต  3,036 บาท 3,136 บาท ตามลำดับซึ่งต้นทุนที่แตกต่างกันเกิดจากค่าเสื่อมของบ่อ
  3. การผลิตผัก แปลงผักไร้ดินแบบใช้ท่อ PVC และแปลงผักไร้ดินแบบใช้ไม้ไผ่มีต้นทุนการผลิตต่อรุ่นที่แตกต่างกันคือ  228 บาท และ 253 บาทตามลำดับซึ่งจะเห็นว่าต้นทุนการผลิตของแปลงไม้ไผ่สูงเมื่อเปรียบเทียบอายุการใช้งาน และเมื่อเปรียบเทียบการดูแลรักษาพบว่า แปลงปลูกท่อ PVC ดูแลรักษาได้ง่ายกว่าเนื่องจากแข็งแรงทนทาน ส่วนไม่ไผ่เมื่อถูกน้ำจะเปราะหักง่ายและมีโอกาส เกิดเชื้อราได้ง่ายส่วน ผลผลิตผัก จากแปลงปลูกทั้ง 2 แบบได้ผลผลิตไม่แตกต่างกันคือผักขึ้นฉ่าย และผักสลัดผลผลิต รวมชนิดละ   26 กิโลกรัม  ผักบุ้ง ผลผลิตรวม 17 กิโลกรัม และเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานการปลูกทั่วไปพบว่ามีผลผลิตไม่แตกต่างกัน
  4. การใช้จุลินทรีย์ร่วมในระบบการผลิต มีผลทำให้ ไก่ไข่มีสุขภาพแข็งแรง น้ำในบ่อเลี้ยงปลาไม่มีกลิ่นเหม็น ความหนืดของน้ำและตะกอนก้นบ่อลดลง ปลามีอัตราการรอดสูง
  5. การผลิตผัก คราบตะกอนติดในแปลงปลูกน้อยลง ทำความสะอาดง่าย ลดการสูญเสียจากผักเกิดโรครากเน่า ผักแข็งแรง

ข้อมูลจาก โครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กฟผ.