Green Cone ถังหมักรักษ์โลก
ถังหมักรักษ์โลก (Green Cone) ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในประเทศแคนาดา โดยมีวัตถุประสงค์ในการออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อจัดการกับขยะอินทรีย์ที่เหลือจากครัวเรือน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเชื้อโรคหรือไปปนเปื้อนกับขยะอื่นๆที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ อีกทั้งยังได้ประโยชน์ในเรื่องของธาตุอาหารที่เป็นผลพลอยได้ใช้ในการปรับปรุงดิน ทำให้ดินมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ที่ได้ชือว่า Green Cone เนื่องจากในต่างประเทศถังต้นแบบที่จัดทำออกจำหน่ายมีสีเขียว และรูปร่างลักษณะของถังดังกล่าวจะมีลักษณะคล้ายทรงกรวยของโคนไอศครีม แต่อีกนัยหนึ่งแม้ไม่ใช่ถังสีเขียวแต่มันก็ถูกออกแบบมาในการลดขยะอินทรีย์ในแนวกรีนๆเช่นกัน โดยในวันนี้เราจะพาทุกท่านไปเรียนรู้วิธีการทำและหลักการทำงานของถังหมักรักษ์โลกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการกัน



วัสดุที่ใช้ในการทำถังหมักรักษ์โลก จะประกอบด้วย 


1. ตะกร้า 1 ใบ
2. ถังพลาสติก 2 ใบ (ขนาดเล็ก1 ใบ และขนาดใหญ่ 1 ใบ) 
หรือจะใช้ถังใหญ่ใบเดียวก็ได้


วิธีการทำถังหมักรักษ์โลก


1. คว่ำถังพลาสติกขนาดเล็กลงในตะกร้า โดยให้มีความลึกลงไปจากปากตะกร้าประมาณ 5 -10 เซนติเมตร โดยจะต้องเหลือช่องของตะกร้าขึ้นมาจากปากถังที่คว่ำลงไป ประมาณ 2 ช่อง จากนั้นทำการตัดก้นถังพลาสติกใบเล็กออก


2. คว่ำถังพลาสติกขนาดใหญ่ลงบนปากตะกร้าให้พอดี จากนั้นนำเชือกมาผูกมัดให้ติดกัน ตัดก้นถังใบใหญ่ออกและส่วนที่ตัดออกนำมาทำเป็นฝาปิด


การติดตั้งถังหมักรักษ์โลก 


1. เลือกพื้นที่ติดตั้งถังหมักรักษ์โลก โดยเลือกพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดเวลา ไม่ควรอยู่ใต้ร่มเงาไม้ หรือแสงแดดรำไร


2. ขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่กว่าตะกร้า และมีความลึกมากกว่ารอยต่อของตะกร้าและถังพลาสติกใบใหญ่เมื่อวางลงไป


3. นำถังหมักรักษ์โลกที่ทำการประกอบเสร็จเรียบร้อยวางลงไปกลางหลุมที่ขุดไว้ และกลบด้วยดินที่ขุดขึ้นมา โดยการกลบจะต้องกลบแบบหลวมๆ ไม่อัดดินให้แน่น


4. จากนั้นก็นำเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนมาเททิ้งใส่ถัง โดยระมัดระวังไม่ให้เศษอาหารตกเข้าไปในช่องระหว่างถังพลาสติกใบเล็กและถังพลาสติกใบใหญ่



หลักการทำงาน
ถังหมักรักษ์โลกเป็นการใช้ประโยชน์จากกลุ่มจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ภายในดินที่มีอยู่เดิมมาทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ แต่หากบริเวณใดเป็นดินเสื่อมโทรมมีจุลินทรีย์ตามธรรมชาติอยู่น้อยก็อาจจะเพิ่มจุลินทรีย์ได้โดยการเติมขี้วัว หรือเติมน้ำหมักชีวภาพเข้าไปรองพื้นตระกร้าก่อนเทเศษอาหารได้ หลักการหมักจะเป็นการหมักโดยกระบวนการของจุลินทรีย์แบบใช้ก๊าซออกซิเจนซึ่งจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นน้อยมากเมื่อเทียบกับการหมักแบบอื่นๆ

ดังนั้นก๊าซออกซิเจนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับถังหมักรักษ์โลก โดยการออกแบบถังจะมุ่งเน้นให้เกิดการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศเพื่อให้ก๊าซออกซิเจนเดินทางเข้าสู่วัสดุหมักได้อย่างทั่วถึง โดยก๊าซออกซิเจนจะเข้าสู่ถังหมักได้ 2 ช่องทาง คือ ผ่านช่องว่างของเม็ดดินที่กลบลงไปอย่างหลวมๆรอบถังและรอดรูของตระกร้าเข้าสู่วัสดุหมักด้านล่าง และทางฝาปิดด้านบนผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างถังเล็กและถังใหญ่ เมื่อแสงแดดส่องลงมาจะทำให้อุณหภูมิของอากาศภายในถังสูงขึ้น อากาศที่ถังด้านล่างจะยกตัวลอยสูงขึ้นด้านบน เกิดการดูดหมุนเวียนอากาศใหม่จากภายนอกเข้ามาแทนที่ ตัวถังจึงมีออกซิเจนหมุนเวียนตลอดเวลา อีกทั้งช่องว่างระหว่างถังทั้ง 2 ใบเป็นฉนวนอากาศป้องกันความร้อนได้ดีช่วยให้อุณหภูมิภายในถังหมักไม่สูงจนเกินไป ทำให้จุลินทีย์ที่ทำหน้าที่ในกระบวนการหมักยังคงมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้สัตว์ที่เป็นผู้ย่อยสลายขนาดเล็ก เช่น กิ้งกือ และไส้เดือนดินยังสามารถเคลื่อนที่ผ่านรูตะแกรงของตระกร้า เพื่อเข้าไปย่อยสลายเศษอาหารได้อีกทางหนึ่งด้วย

ผลผลิตที่ได้จากถังหมักรักษ์โลก คือ ธาตุอาหารต่างๆที่เกิดจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์และสัตว์ในชั้นดินชนิดต่างๆจะกระจายแพร่ลงสู่ดินบริเวณรอบๆ ถังหมัก ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ดังนั้นการปลูกผักบริเวณรอบๆ ถังหมักรักษ์โลก จึงเป็นการปลูกต้นไม้โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอีก เพียงแค่เรานำเศษอาหารเทเข้าไปในถังหมัก อาหารเหล่านั้นก็จะเกิดกระบวนการหมัก และเติมธาตุอาหารเข้าไปในดินโดยอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ส่งเสริมการใช้ถังหมักรักษ์โลกอย่างแพร่หลาย แต่หลายแห่งยังไม่เข้าใจในหลักการทำงานที่ถูกต้องทำให้ถังที่ประดิษฐ์ขึ้นทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฯสิรินาถราชินีได้จัดทำจุดสาธิตถังหมักรักษ์โลกต้นแบบที่ถูกต้องตามหลักวิชาการไว้ในพื้นที่และได้ทดลองใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบัน


Cr. & Thankyou : ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี
Pantip.com