บะจ่าง จากข้าวฟ่างถึงข้าวเหนียว

บะจ่าง เป็นคำยืมภาษาจีนว่า 肉粽 แปลว่า ขนมจ้างไส้เนื้อ

บะจ่าง หรือ จ้งจื่อ(粽子) ในยุคแรกใช้ข้าวฟ่างไม้กวาด เรียกว่า เจี๋ยวสู่(角黍) แปลว่า ข้าวฟ่างเขาสัตว์ ต่อมาเรียกว่า จ้ง(粽) หรือ จ้งจื่อ(粽子) คำว่า จ้ง(棕) เดิมใช้อักษร 椶 ในพจนานุกรมซัวเหวินเจี่ยจื้อ《説文解字》 เป็นพจนานุกรมสมัยราชวงศ์ฮั่น อธิบายว่า 糉 หมายถึง ข้าวห่อใบอ้อ ต่อมาชาวบ้านนิยมใช้ 粽 เรียกจนถึงปัจจุบัน แม้ในซัวเหวินเจี่ยจื้อยืนยันว่ายุคแรกใช้ใบอ้อ แต่ในยุคต่อมาใช้ใบไม้อื่นแทนใบอ้อ

 

黍 แปลว่า ข้าวฟ่างไม้กวาด

ในเอกสารสมัยราชวงศ์ถังชื่อว่า ชูเสวียจี้《初學記》 มีข้อความอธิบายเพิ่มโดยอ้างเอกสารสมัยราชวงศ์เหลียงชื่อ ซวี่ฉีเสียจี้《續齊諧記》ว่า ในวันที่5เดือน5 คือวันที่ขุนนางภักดีนามคุกง้วน หรือ ชวีหยวน(屈原) โดดน้ำตาย คนเซ่นไหว้ด้วยด้วย เจี๋ยวสู่(角黍) โดยทำอย่าง ถ่งจ้ง(筒粽) คือ ข้าวหลาม โดยเอาข้าวบรรจุลงกระบอกไม้ไผ่แล้วโยนลงน้ำ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีคนนึงฝันเห็นวิญญาณชวีหยวน วิญญาณแจ้งว่างูและมังกรมาลักขโมยกินข้าวในกระบอกไม้ไผ่ แนะนำว่าเวลาเซ่นไหว้ให้เอาใบหน่อไม้น้ำ(菰)ปิดปากกระบอกไม้ไผ่ ผูกด้วยเชือกเบญจรงค์ งูและมังกรจะกลัวไม่กล้ากิน

เรื่องเล่านี้ทำให้คนรุ่นหลังเชื่อว่าการไหว้ขนมจ้างคือการเซ่นไหว้ขุนนางคุกง้วน

ของเซ่นไหว้ ต่อมาคนไม่ใช้ข้าวหลามเซ่นไหว้เพราะขั้นตอนยุ่งยาก ต้องหากระบอกไม้ไผ่ การไหว้ด้วย ถ่งจ้ง หรือข้าวหลาม ถูกแทนที่ด้วยขนมจ้าง หรือ จ้ง(粽) แบบทั่วไปมาเซ่นไหว้แทน ใบไม้ที่เอามาอุดปากกระบอกไม้ไผ่ถูกนำมาห่อข้าวแทนการบรรจุข้าวลงกระบอกไม้ไผ่

ใน ชูเสวียจี้ อธิบายว่าคนเอาใบไม้ปิดปากกระบอกเพื่อกันงูและมังกรมาขโมยของกินในกระบอก แต่แพทย์จีนสมัยราชวงศ์หมิงนาม หลี่สือเจิน(李時珍) อธิบายว่าใช้เซ่นไหว้คุกง้วนและเอาโยนลงแม่น้ำเป็นอาหารของงูและมังกร แพทย์หลี่สือเจินอธิบาย คำว่า 角黍 ในตำรา เปิ่นเฉ่ากังมู่《本草綱目》 ว่า

"俗作粽。古人以菰蘆葉裹黍米煮成,尖角,如棕櫚葉心之形,故曰粽,曰角黍。近世多用糯米矣。今俗五月五日以爲節物相饋送。或言祭屈原,作此投江,以飼蛟龍也。"

(ชาวบ้านเรียกมันว่า จ้ง คนโบราณใช้ใบหน่อไม้น้ำและใบอ้อห่อข้าวฟ่างต้มให้สุก ปลายแหลมอย่างเขาสัตว์ รูปลักษณ์ภายนอกเหมือนใบจงหฺลวี(棕櫚 แปลว่า ต้นตาล) จึงได้ชื่อว่า จ้ง และ เจี๋ยวสู่(ข้าวฟ่างเขาสัตว์) ในช่วงนี้ใช้ข้าวเหนียวกันมาก ชาวบ้านใช้เป็นของกำนัลมอบให้กันในวันที่5เดือน5 หรือใช้เซ่นไหว้คุกง้วน โยนสิ่งนี้ลงแม่น้ำเป็นอาหารแก่งูและมังกร)

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าคนจีนเปลี่ยนจากกระบอกข้าวหลามมาเป็นข้าวห่อใบไม้ในสมัยใด แต่จากข้อมูลของหลี่สือเจินระบุว่าในยุคสมัยตนมีการมีการใช้ข้าวเหนียวมากขึ้น แสดงว่าการใช้ข้าวเหนียวทำบะจ่างเริ่มนิยมในสมัยราชวงศ์หมิง และกลายเป็นแบบแผนของบะจ่างในปัจจุบัน

Cr. อารยา ลี เพจถาษาแต้จิ๋วเท่าที่ฉันรู้(จากอาม่า)